วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Neverland ดินแดนที่ไม่เคยมีอยู่จริง

ถ้าเราเอาคำถามที่ว่า "โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ" ไปถามเด็กชายคนหนึ่งในดินแดน
ที่มีชื่อเรียกว่า Neverland เด็กน้อยบินได้คนนั้นคงจะตอบกลับไปอย่างทันควันว่า
"ไม่อยากเป็นอะไรฮะ" คำถามนี้ไม่สามารถสร้างปัญหาให้เขาคิดมากได้เลย นั่นเป็นเพราะ
"ก็ผมไม่มีวันโตนี่ฮะ" ปีเตอร์ แพน บอกเหตุผล พร้อมๆกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของวัยเด็ก


แต่ในความเป็นจริง ดาวสีน้ำเงินใบกลมๆ แป้นๆ ที่เรายืนเหยีบอยู่นี้มิใช่ดินแดน Neverland
แห่งนั้น เด็กทุกคนล้วนต้องเติบโต และเด็กหลายคนในโลกต่างเคยถูกถามว่า
"โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร" คำถามนี้คล้ายจะกลายเป็นประโยคคำถามบังคับให้เด็กทุกคน
เริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่รู้เลยว่าอนาคตที่ว่ามันจะมาถึงจริงรึเปล่า

"ผมอยากเป็นทหารครับ" ด.ช.ศรราม ตอบ
"หนูอยากเป็นหมอค่ะ" ด.ญ.อ้อย ตอบ
"หนูเหรอคะ หนูอยากเป็นนักร้องโกอินเตอร์ค่ะ" ด.ญ.ทาทา ตอบบ้าง
"ผมอยากเป็นนักบินครับ แล้วก็เลี้ยงหมาน่ารักๆ สักตัวครับ" ด.ช.ติ๊ก ตอบ

...แต่เด็กน้อยทั้งหลายจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าฝันของพวกเขาในวันนี้จะกลายเป็นจริงในวันหน้า
ดูอย่างติ๊ก ตอนนี้เขามีอายุปาเข้าไปจะ 40 ขวบปีแล้ว แต่เขายังไม่มีในสิ่งที่ตัวเองฝันในวัยเด็ก
เลยสักอย่าง ตอนนี้เขาเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนขยายโอกาส ครูธรรมดาที่ยังไม่มีแม้แต่เงา
ของผู้หญิงที่เขาจะร่วมชีวิตด้วย ทุกอย่างที่ได้รู้ได้เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่ติ๊กคิดไว้เลย มันออกจะ
แย่กว่าที่เขาเคยคาดคิดไว้ในวัยเด็ก
"ผมอายุ 40 ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้ขับเครื่องบิน แล้วแม้แต่หมาก็ไม่ได้เลี้ยง"
เด็กชายติ๊ก โวยวายใส่ นายติ๊ก "ผมโตเป็นผู้ใหญ่ที่ห่วยแตกมากเลยหรือเนี่ย"

จะใช่ความผิดของนายติ๊กหรือเปล่า ที่เขาละเลยในสิ่งที่เขาตั้งใจ "จะเป็น" และ "จะทำ" ในวัยเด็ก
หรือจะโยนความผิดให้กับติ๊กที่ไม่เคยเข้าใจเลยว่า สิ่งที่เขาฝันไว้ มันก็แค่ "ความอยากจะ" เท่านั้น
มันไม่สามารถการันตีได้เลยว่า เมื่อวัยนั้นมาถึง "ความอยากจะ" นั้นมันจะกลายเป็นรูปร่างขึ้นมา

บางที โลกและสังคมมนุษย์ก็ซับซ้อนและยากเกินกว่าที่เด็กๆ เคยเข้าใจ...
และบางครั้ง การต้องการเอาตัวรอดของเราทุกคนบวกกับเวลาที่เร่งรุดไป ก็พร้อมใจกันผลักหน้า
ของเราให้เบือนหนีไปจากฝันที่เราเคยคิดไว้... แม้เราจะไม่ตั้งใจเป็นเช่นนั้นก็ตาม

สิ่งที่เรากำลังเป็นในวัยที่เติบใหญ่ขึ้นมานี้ จะคือ "สิ่งที่เราอยากจะเป็น" หรือ
"สิ่งที่เราจำเป็นต้องเป็น" มันจะสำคัญตรงไหนในเมื่อใม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตที่มนุษย์เราสามารถ
เลือกได้อย่างพอใจ แต่ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความหมายของชีวิตมันอยู่ที่
"การทำชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนี้ให้ดีที่สุด" มิใช่หรือ

ชีวิตคงไม่มีเรื่องอะไรให้คิดมาก ถ้าเราเป็นเด็กที่ไม่ต้องโต ไม่ต้องกังวลถึงอนาคต
ไม่ต้องรับผิดชอบ ในแบบที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องแบกไว้ แล้วเราจะมีเพื่อนแบบปีเตอร์ แพน
ที่พาเราสนุกได้ทั้งวัน ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องร้อน ไม่ว่าเราจะบินเนิ่นนานสักเท่าไหร่
เราก็ไม่มีวันโตอยู่ดี

ว่าแต่ ดินแดนนั้นอยู่ตรงไหน ริมขอบฟ้า นอกโลก หรือ ในอวกาศ... ที่แห่งนั้นช่างหายาก
เหลือเกิน หรือ ที่แท้จริงแล้ว Neverland ก็แค่ดินแดนที่ไม่เคยมีอยู่จริง



คุณภาพการเรียนของเด็กไทยรุ่นใหม่

เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า เป้าหมายเบื้องบนสุดอันเป็นหัวใจของ การปฏิรูปการศึกษา
คือ " คุณภาพการเรียนของเด็ก " เราจะปฏิรูปปฏิวัติหรือที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลง
อะไรต่อมิอะไรกันทั้งระบบเป็นการใหญ่นั้น ก็ทำไปเพื่อให้เกิดผลที่ " ตัวเด็ก "
หมายความว่าเริ่มต้นก็อยู่ที่ตัวเด็กลงท้ายซึ่งเป็นจุดสำเร็จก็อยู่ที่ตัวเด็ก
ทำอะไร ๆก็ต้อง " คำนึงถึงตัวเด็ก " จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องถามว่า
แล้วเด็กได้อะไร ?จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นกับเด็ก ? หากผลจะเกิดกับเด็กนั้น
เป็นสิ่งที่เราต้องการ และจะเกิดขึ้นได้ระดับ (มาตรฐาน) ที่เราประสงค์ที่กำหนดไว้
เราก็ทำ (ปรับเปลี่ยน) หากไม่ใช่คุณภาพหรือใช่ แต่ไม่ได้มาตรฐาน
(สูงตามที่เรากำหนดเป้าไว้) เราก็ไม่ทำ ! หรือทำแต่ใช้วิธีการอย่างใหม่
เพราะสิ่งที่เราต้องการจากการปฏิรูปคือ... คุณภาพการเรียน (ของเด็ก)
ได้มาตรฐานสูง จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร ๆ อย่างไรต้องคำนึงถึง
ผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก จะปรับเปลี่ยนระบบบริหารการศึกษาของประเทศ
ของจังหวัดหรือระบบบริหารภายในโรงเรียน ก็ต้องถามว่าแล้วเด็กจะได้อะไร ?
จะปรับเปลี่ยนระบบหลักสูตร (ซึ่งรวมทั้งเป้าหมายการศึกษา มาตรฐานการศึกษา
ของเด็ก ระบบการประเมินผลและการรายงาน) ต้องถามว่า แล้วเด็กจะได้อะไร ?
จะปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอน ที่เน้น (กันนักหนาว่า) ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น
เด็กจะได้อะไร ? จะปรับปรุงระบบวิชาชีพของครู (และบุคลากรการศึกษา)
เป็นการใหญ่ แล้วเด็กจะได้อะไร ? การตอบคำถามว่าเด็กจะได้อะไรนั้นต้องชัดเจน
และแหลมคมหน่อยนะครับ เพราะเราต้องการเด็กที่มี........ คุณภาพการเรียน
ได้มาตรฐานสูง เด็กไทยในอนาคต เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เด็กไทยในยุค
โลกาภิวัฒน์ ต้องเป็น... เด็กไทยรุ่นใหม่ เด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพอย่างใหม่
เด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพอย่างใหม่ที่ได้มาตรฐานสูง เด็กไทยรุ่นใหม่
ที่มีคุณภาพอย่างใหม่ ที่ได้มาตรฐานสูงในระดับสากล (นานาชาติ)
อะไรคือคุณภาพอย่างใหม่? มาตรฐานสูง (สากล) คือเท่าไร ? จะต้องปฏิรูปอะไร ?
ให้เป็นอย่างไร ? ด้วยวิธีการอย่างไร ? ใครต้องทำส่วนไหน อย่างไร
เด็กจึงจะได้อย่างที่ว่า ? ก็ต้องมียุทธศาสตร์การปฏิรูปที่แยบยล !